กฎหมายผังเมืองกรุงเทพมหานคร

ตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร หรือ ผังเมืองกรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทาง

ในการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจวิทยาการของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศูนย์กลางการบริหารและการปกครองของประเทศ มีเอกลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนเป็นเมืองต้นแบบในด้านการรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติรวมไปถึงลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผังเมืองกรุงเทพฯ ได้กำหนดกฎในเรื่อง “การใช้ประโยชน์ที่ดิน” “พื้นที่ประกอบการ” “การประกอบพาณิชยกรรม” “อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน” “อัตราส่วนของที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม” “สถานที่เก็บสินค้า” “ศูนย์ประชุมอาคารแสดงสินค้าหรือนิทรรศการ” “ตลาด” “ป้าย” “โรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการเกษตร” และ “พื้นที่รับน้ำ”

ผังเมืองกรุงเทพฯ ได้กำหนดแผนผัง “การใช้ประโยชน์ที่ดิน” โดยจำแนกประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินไว้เป็นสี หรือเรียกว่า โซนสี ซึ่งประกอบด้วยโซนสีดังต่อไปนี้

  1. ที่ดินประเภท ย. ๑ ถึง ย. ๔ ที่กำหนดไว้เป็นสีเหลือง ให้เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย
  2. ที่ดินประเภท ย. ๕ ถึง ย. ๗ ที่กำหนดไว้เป็นสีส้ม ให้เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง
  3. ที่ดินประเภท ย. ๘ ถึง ย. ๑๐ ที่กำหนดไว้เป็นสีน้ำตาล ให้เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก
  4. ที่ดินประเภท พ. ๑ ถึง พ. ๕ ที่กำหนดไว้เป็นสีแดง ให้เป็นที่ดินประเภทพาณิชยกรรม
  5. ที่ดินประเภท อ. ๑ และ อ. ๒ ที่กำหนดไว้เป็นสีม่วง ให้เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรม
  6. ที่ดินประเภท อ. ๓ ที่กำหนดไว้เป็นสีเม็ดมะปราง ให้เป็นที่ดินประเภทคลังสินค้า
  7. ที่ดินประเภท ก. ๑ ถึง ก. ๓ ที่กำหนดไว้เป็นสีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียวให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม
  8. ที่ดินประเภท ก. ๔ และ ก. ๕ ที่กำหนดไว้เป็นสีเขียว ให้เป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม
  9. ที่ดินประเภท ศ. ๑ และ ศ. ๒ ที่กำหนดไว้เป็นสีน้ำตาลอ่อน ให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย
  10. ที่ดินประเภท ส. ที่กำหนดไว้เป็นสีน้ำเงิน ให้เป็นที่ดินประเภทสถาบันราชการการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

ซึ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท จะมีข้อกำหนดให้ใช้ประโยชน์ และ ห้ามใช้ประโยชน์  รวมถึงข้อกำหนดของ อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน FAR (Floor Area Ratio) และอัตราส่วนของที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม OSR (Open Space Ratio) ซึ่งจะกล่างถึงในบทความถัดไป

ผังเมืองกรุงเทพ
กรุณาแชร์ ลิงค์